Tuesday, October 9, 2007

นิยามอีเลิร์นนิ่ง (e-learning) ที่แท้จริงสำหรับอนาคต

ผศ.ดร. ไพโรจน์ เบาใจ


อีเลิร์นนิ่ง หรือที่ภาษาไทยแปลว่า การเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์ มาจากคำภาษาอังกฤษว่า elearning ซึ่งเป็นคำย่อของ Electronic Learning ในภาษาอังกฤษนั้นบ้างก็เขียน e-learning, elearning หรือ eLearning ซึ่งทุกแบบก็ออกเสียงเหมือนกัน และถือว่ามีความหมายเดียวกัน

จุดประสงค์หลักของบทความนี้คือ วิเคราะห์ความหมายของอีเลิร์นนิ่ง เพื่อให้เกิดความรู้ และความเข้าใจต่อเทคโนโลยีที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องของอีเลิร์นนิ่งด้วยการสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต แล้วนำมาสังเคราะห์ ประมวลขึ้นใหม่ อีกทั้งยังได้นำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องของอีเลิร์นนิ่ง







1. วิเคราะห์ความหมายความหมายของอีเลิร์นนิ่ง นั้นสำคัญยิ่งต่อการสื่อสารให้สัมฤทธิ์ผล อีเลิร์นนิ่งนั้นไม่ใช่ของใหม่ในศตวรรษที่ 21 แต่เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เสมอ ดังนั้นอีเลิร์นนิ่งจึงจะมีความหมายที่หลากหลาย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับมุมมองและความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ ความหมายของอีเลิร์นนิ่งตามรากศัพท์ ที่มาจาก Electronic Learning นั้นหมายถึง การเรียนที่ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งความหมายดังกล่าวนี้ทำให้มีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้น เพราะ electronic เป็นคุณศัพท์ (Adjective) (Cambridge University Press, 2007) ที่มี 2 ความหมายคือ 1) electronic (ELECTRICAL) เป็นคำเรียกอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า กับ 2) electronic (COMPUTING) เป็นคำเรียกอุปกรณ์ที่มีความสามารถในการคำนวณเช่น คอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจจะทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า หมายถึงการเรียนที่ใช้สื่อใดก็ตามที่ต้องใช้ไฟฟ้า เช่น ใช้เครื่องฉายแผ่นใสหรือเครื่องฉายสไลด์ในห้องเรียน แต่ที่เข้าใจผิดมากไปกว่านั้นก็คือเข้าใจว่าการใช้ไฟฟ้าขณะมีการเรียนการสอนนั้นเป็นอีเลิร์นนิ่ง เช่น เปิดไฟเพื่อให้แสงสว่าง เป็นต้น

ดับลิน (Dublin, 2003) กล่าวถึงวิวัฒนาการของความหมายของอีเลิร์นนิ่งไว้ว่า ในช่วงปี ค.ศ. 2000 ซึ่งในช่วงนั้นถือว่าเป็นช่วง “e” ระบาด ในภาษาอังกฤษโดยที่มีการใส่ “e” ไว้ที่คำนามต่างๆ มากมาย เช่น e-commerce, e-banking เป็นต้น ซึ่งตรงกับช่วง “ดอทคอม” ได้รับความนิยมนั้น อีเลิร์นนิ่งก็เป็นอีกคำหนึ่งที่ถูกบัญญัติขึ้นโดยมีนัยยะว่าเป็นการเรียนรู้โดยการใช้คอมพิวเตอร์ผ่านเครือข่ายอินทราเน็ต หรือ อินเทอร์เน็ต และบ้างก็เข้าใจกันไปว่า อีเลิร์นนิ่งจะเป็นคำที่มาแทนที่เว็บไซต์เพื่อการสอน หรือการฝึกอบรม (Web-based Instruction or Training) ในปี ค.ศ. 2001 สมาคมสำหรับการฝึกอบรม และพัฒนาชาวอเมริกัน (American Society for Training & Development- ASTD) ได้ตีพิมพ์เผยแพร่รายงานที่ระบุไว้ว่า อีเลิร์นนิ่งคือ เนื้อหาการสอน หรือประสบการณ์การเรียนรู้ที่ถ่ายทอดด้วยเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ ต่อมาในปลายปี ค.ศ. 2002 ความหมายของอีเลิร์นนิ่งในเชิงอุตสาหกรรมนั้นต้องประกอบด้วยการใช้เทคโนโลยีที่สร้างสรรค์ เผยแพร่ และสื่อสาร ข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ที่มีคุณภาพเพื่อยกระดับความสามารถในการทำงาน จากข้อมูลเหล่านี้ทำให้สรุปได้ว่า ความหมายของ Electronic ที่ใช้นำหน้า Learning นั้นไม่ได้หมายถึงการใช้กระแสไฟฟ้า แต่เป็นการเน้นที่ศักยภาพของการคำนวณของเครื่อง ซึ่งจะหมายถึงคอมพิวเตอร์
บทความจากคณะกรรมการคุณภาพด้านการเรียนทางไกลแบบเปิด ในประเทศอังกฤษ (The Open and Distance Learning Quality Council) โดยวอลเลอร์ และวิลสัน (Waller & Wilson, 2001) อธิบายว่าอีเลิร์นนิ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิผลที่สร้างสรรค์จากการผสมผสานของการถ่ายทอดเนื้อหาแบบดิจิตัลกับการเรียนรู้ที่ได้จากการสนับสนุน และการให้บริการ “E-Learning is the effective learning process created by combining digitally delivered content with (learning) support and services.” จากนิยามดังกล่าวนี้มีคำหลักอยู่ 4 คำที่จำเป็นจะต้องอธิบายเพิ่มเติมคือ



  1. มีประสิทธิผล (Effective) เพราะต้องการสร้างการเรียนที่ประสบผลสำเร็จ

  2. การผสมผสาน (Combining) เป็นการผสมผสานที่สร้างความแตกต่างให้กับอีเลิร์นนิ่ง เพราะอีเลิร์นนิ่งต้องมีเนื้อหากับ การสนับสนุน และการให้บริการ

  3. การถ่ายทอดเนื้อหาแบบดิจิตัล (Digitally delivered content) ที่มีการออกแบบซึ่งแตกต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์

  4. การสนับสนุน (Support) หมายถึงการที่ผู้เรียนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้เช่น ซีดี-รอม ที่เป็นไปได้ทุกที่ และทุกเวลา ซึ่งผู้สอนมักจะไม่สามารถสนับสนุนได้ทุกที่ และทุกเวลา

เมื่อนำเอานิยามของ วอลเลอร์ และวิลสัน (2001) ข้างต้นนี้มาวิเคราะห์ก็จะเห็นได้ว่า ผู้เขียนทั้งสองได้เน้นถึงสิ่งหนึ่งซึ่งส่วนมากไม่มีการกล่าวถึงนั้นก็คือ “ประสิทธิผล” นอกจากนี้ยังได้เน้นว่าอีเลิร์นนิ่งนั้นต้องเป็น “การผสมผสาน” ซึ่งอาจจะอธิบายซ้ำเพื่อให้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นได้ว่าเป็นการผสมผสานระหว่างบทเรียน กับการสนับสนุนจากแหล่งข้อมูลเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้นั่นเอง อย่างไรก็ดีน่าที่จะเพิ่มเติมว่าการสนับสนุนนั้นน่าจะรวมการเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตได้อีกด้วย เพราะอินเทอร์เน็ตก็เป็นห้องสมุดขนาดใหญ่ที่ไม่มีเวลาปิด

อีเลิร์นนิ่งยังมีความหมายคาบเกี่ยวกับคำศัพท์อื่นๆ ทั้งใหม่และเก่าในวงการศึกษาอีกหลายคำเช่น การเรียนทางไกล (Distance Learning) การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา และการฝึกอบรม (Computer Based Learning and Training - CBL and CBT) คอมพิวเตอร์ช่วยการสอน (Computer Aided Instruction หรือ Computer Assistant Instruction - CAI) เว็บไซต์เพื่อการสอน (Web-based Instruction - WBI) จนถึง ออนไลน์เลิร์นนิ่ง (online learning) ซึ่งคำสุดท้ายนี้แปลเป็นไทยได้ว่า การเรียนขณะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ความหมายที่เลื่อมล้ำกันของคำต่างๆ สามารถอธิบายความเหมือนและความแตกต่างได้ดังต่อไปนี้


  1. อีเลิร์นนิ่งสามารถเป็นส่วนหนึ่งของ การเรียนทางไกล เพราะการเรียนทางไกลสามารถใช้สื่อประกอบการเรียนได้อย่างหลากหลาย

  2. อีเลิร์นนิ่งมีความหมายครอบคลุม การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา และการฝึกอบรม คอมพิวเตอร์ช่วยการสอน เพราะต่างก็เป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์

  3. อีเลิร์นนิ่งมีความหมายครอบคลุม เว็บไซต์เพื่อการสอน ออนไลน์เลิร์นนิ่ง เพราะต่างก็เป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน แต่คำในกลุ่มนี้เน้นว่าต้องเชื่อมต่ออยู่ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรืออินเทอร์เน็ตนั้นเอง

นอกเหนือจากคำนิยามซึ่งกล่าวมาแล้ว ความหมายของ e-learning ที่สืบค้นได้จาก Google (7 เม.ย. 50) พบว่า มีคำนิยามอยู่ใน 15 เว็บไซต์ (ซึ่งไม่ซ้ำกับคำนิยามที่กล่าวมาแล้ว) ส่วนคำว่า elearning นั้นพบเพียง คำนิยามอยู่ใน 4 เว็บไซต์ และ 3 ใน 4 เว็บไซต์นี้ก็เป็นเว็บไซต์เดียวกันกับ 15 เว็บไซต์แรก จึงนำ 16 เว็บไซต์นี้มาพิจารณาเนื้อหา ความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล เช่น เว็บไซต์ของสถาบันการศึกษา สมาคม หรือ องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร นักวิชาการซึ่งมีการระบุชื่อและวันที่เผยแพร่ พร้อมกับการอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ จึงได้คัดเว็บไซต์ออกไป 3 เว็บไซต์ เหลือ 13 เว็บไซต์ และได้จัดประเภทของคำจำกัดความของอีเลิร์นนิ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มได้ดังต่อไปนี้


  1. อีเลิร์นนิ่งเป็นการเรียน หรือเป็นสื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต หรือเครือข่ายไร้สาย และใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร มีจำนวน 7 เว็บไซต์ (EduSpecs, 2006; Graduate Recruitment Bureau, 2007; Online Degree Zone, 2007; The Digital Strategy, 2007; University of Bath, 2004; Web Sight Ltd., 2007; wikipedia, 2007)

  2. อีเลิร์นนิ่งเป็นการเรียนที่ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ต่างๆ เช่น แผ่น ซีดี-รอม ไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต มีจำนวน 2 เว็บไซต์ (Intelera Inc., 2004; teach-nology.com, 2007)

  3. อีเลิร์นนิ่งเป็นการเรียนที่ครอบคลุมความหมายทั้งข้อ 1 และ 2 มีจำนวน 4 เว็บไซต์ (Ehrlich, 2002; Hobsons MBA Central, 2007; The University of South Dakota, 2007; World Wide Learn, 2007)

จากคำนิยามที่สืบค้นได้นี้แสดงให้เห็นได้ว่าอีเลิร์นนิ่งนั้นมีความหมายที่เน้นถึงการเรียนรู้ที่จัดสรรผ่านทางเครือข่าย หรือมีความเป็น on line มากกว่าจะเป็นการเรียนรู้แบบ off line บนเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้น จากการทบทวนนิยามของอีเลิร์นนิ่งจากแหล่งต่างๆ ข้างต้น จึงทำให้สามารถเขียนนิยามของอีเลิร์นนิ่งที่กระชับและเหมาะสมได้ใหม่ว่า “เป็นการเรียนรู้ผ่านสื่อทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือเครือข่ายไร้สายด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร” ซึ่งจากความหมายดังกล่าวนี้ไม่ได้เน้นว่าจะต้องเป็นคอมพิวเตอร์เท่านั้น เพราะเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีของเครื่องมือสื่อสารมีพัฒนาการที่รวดเร็ว จึงไม่อยากจะยึดติดที่คอมพิวเตอร์เท่านั้น เพราะเครื่องมืออาจจะอยู่ในรูปของเครื่องมือชนิดอื่นๆ เช่น โทรศัพท์แบบพกพา หรือ นวัตกรรมทางการสื่อสารอื่นๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

2. องค์ประกอบ
จากนิยามของอีเลิร์นนิ่งซึ่งเน้นการเชื่อมต่อกับเครือข่าย หรือเน้นที่ความเป็น on line จึงน่าที่จะแจกแจงองค์ประกอบของสื่อแบบอีเลิร์นนิ่งที่เผยแพร่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือเครือข่ายไร้สาย ได้ว่าเป็นสื่อที่มีคุณลักษณะมากกว่ามัลติมีเดียเพื่อการศึกษาที่สมบูรณ์แบบเสียอีก เพราะจะต้องเป็นการนำเสนอสื่อแบบผสมผสานที่ลงตัว มีความหมายต่อการเรียนรู้ และสามารถรับ-ส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ได้ดังต่อไปนี้



  1. ตัวอักษร เนื้อหา (Text)

  2. ภาพนิ่ง ภาพประกอบต่างๆ (Image) ซึ่ง ข้อ 1-2 นี้ ที่เป็นลักษณะของสื่อสิ่งพิมพ์นั่นเอง

  3. เสียง (Sound) สามารถรับฟังเสียงได้เป็นลักษณะของวิทยุ

  4. ภาพเคลื่อนไหว (Animation) การแสดงภาพเคลื่อนไหวเป็นลักษณะของวีดิโอ, ทีวี, วีดิโอ-ซีดี และ ดีวีดี เป็นต้น

  5. ปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ให้ผลย้อนกลับได้แบบบทเรียนคอมพิวเตอร์

  6. สืบค้น (Search) ซึ่งเป็นลักษณะของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ขยายผลไปยังอินเทอร์เน็ต

  7. ชุมชน (Community) มีความเป็นสังคมหรือชุมชนเสมือนบนเครือข่าย ซึ่งอย่างน้อยจะต้องประกอบด้วยกลุ่มผู้เรียน กับผู้สอนที่มีการติดต่อ แสดงความคิดเห็น อภิปราย ซักถามกันอยู่อย่างสม่ำเสมอ

จากองค์ประกอบของสื่ออีเลิร์นนิ่งข้างต้น ทำให้มองเห็นลักษณะของสื่ออีเลิร์นนิ่งชัดเจนขึ้น และน่าจะเห็นความแตกต่างของอีเลิร์นนิ่ง กับ มัลติมีเดีย คอมพิวเตอร์ช่วยสอน หรือ แม้กระทั่งเว็บไซต์เพื่อการเรียนการสอนได้ เพราะอีเลิร์นนิ่งนั้นมีความสามารถในการสืบค้น และสามารถสร้างความสัมพันธ์แบบชุมชนเสมือนได้ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของอีเลิร์นนิ่งซึ่งได้มาจากความเป็นเครือข่ายนั่นเอง

ผู้ผลิต และผู้ออกแบบอีเลิร์นนิ่งนั้น ควรจะมีการคำนึงถึงรูปแบบของข้อมูลเนื้อหาของอีเลิร์นนิ่ง ดังที่ ดับลิน (Dublin, 2003) กล่าวไว้เช่น Infotainment (Information + Entertainment) หรือแบบข้อมูลควบความบันเทิง Enter-training (Entertain + training) หรือที่เรียกกันว่า ความบันเทิงเชิงการอบรม และอีกคำหนึ่งซึ่งอาจจะคุ้นเคยกันมาก่อนคือ Edutainment (Education + Entertainment) หรือที่เรียกกันว่า การเรียนรู้คู่ความบันเทิง นั่นเอง


3. คุณลักษณะ
คุณลักษณะของอีเลิร์นนิ่งที่ แตกต่างจากสื่อการเรียนการสอนชนิดอื่นๆนั้น มีนักวิชาการพยายามให้คำอธิบาย โดยการกำหนดคุณลักษณะดังกล่าวด้วยคำที่ขึ้นต้นด้วยตัว “e” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งขอยกมาเป็นตัวอย่างพอสังเขป จากการประมวลรายงาน และบทความต่างๆ หลายบทความ เช่น รายงานของ วิทยาลัยแห่งชาติไอร์แลน์ (National College of Ireland, 2004), เฮยส์ (Heyes, 2004) หัวหน้าห้องสมุด และศูนย์การศึกษาวัฒนธรรมตลอดชีวิต ในประเทศอังกฤษ และ น็อกส์ (Knox, 2007) ผู้อำนวยการวิทยาลัยเสมือนในประเทศอังกฤษ (virtual-college.co.uk) ไว้ ณ ที่นี้ ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า อีเลิร์นนิ่งนั้นประกอบด้วย 7Es และผู้เขียนได้เพิ่มเติมขึ้นอีก 3Es (จากข้อ 8-10) ได้แก่



  1. Enhancing หมายถึง เป็นการกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่สำคัญยิ่งของอีเลิร์นนิ่ง ที่จัดบริการให้กับทุกคน ทุกที่ และทุกเวลา (Anyone from any where and at any time (Charmonman, 2003))

  2. Exciting หมายถึง เป็นการเรียนที่น่าตื่นเต้น และสร้างการตื่นตัวให้กับผู้เรียนได้

  3. Engaging หมายถึง เป็นการเรียนที่น่าดึงดูดใจให้มีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไปได้อีก

  4. Enjoyable หมายถึง เป็นการเรียนที่เพลิดเพลิน

  5. Entertaining หมายถึง เป็นความบันเทิงเชิงการอบรม

  6. Embedding หมายถึง เป็นการเรียนที่ฝังตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอยู่ได้ เช่น ใช้ร่วมกับการเรียนการสอนปกติได้ นอกจากนี้ยังเข้ากับสภาพแวดล้อมของผู้เรียนได้ เช่น ผู้เรียนที่มีงานประจำ ก็สามารถเรียนด้วยอีเลิร์นนิ่งโดยที่ไม่ต้องลาเรียน

  7. Empowering หมายถึง เป็นการเรียนที่ให้อำนาจต่อผู้เรียนในการบริหารจัดการเวลาและความต้องการของตนเองได้

  8. Efficiency หมายถึง เป็นการเรียนที่มีประสิทธิภาพ ใช้เวลาเท่าเดิม หรือน้อยกว่า แต่ได้ความรู้มากขึ้น

  9. Explicit content หมายถึง เป็นการเรียนที่ชัดเจนเข้าใจง่ายมีจุดประสงค์และโครงสร้างที่แน่นอน

  10. Extensibility หมายถึง เป็นการเรียนที่ขยายผลและปรับไปตามสภาพแวดล้อมของผู้เรียนและเทคโนโลยีในอนาคตได้

คุณลักษณะของอีเลิร์นนิ่งข้างต้นนี้เป็นสิ่งที่นักออกแบบควรจะนำมาใช้ในอีเลิร์นนิ่งแบบต่างๆ เช่น ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอีเลิร์นนิ่งที่ใช้ร่วมกับการเรียนแบบปกติ (Hybrid mode) หรือ อีเลิร์นนิ่งสมบูรณ์แบบ (Fully on line mode)

สรุปอีเลิร์นนิ่ง เป็นการเรียนรู้ผ่านสื่อทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือเครือข่ายไร้สายด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องซึ่งเกี่ยวข้องกับ การเรียนรู้ การสื่อสาร เทคโนโลยีสารสนเทศ ของมนุษย์ อีเลิร์นนิ่งเป็นคำที่มีความหมายค่อนข้างกว้าง และครอบคลุมการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์มากมาย เช่น คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้
อีเลิร์นนิ่งจะถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง และมีประสิทธิภาพในอนาคตได้ หากผู้ผลิต และผู้ออกแบบนำเอาองค์ประกอบของอีเลิร์นนิ่งที่เป็นสื่อแบบผสมผสานอันโดดเด่น และ คุณลักษณะที่ได้เปรียบของอีเลิร์นนิ่งไปใช้อย่างแท้จริง



บรรณานุกรม
Cambridge University Press. (2007). Results of "electronic". Retrieved April 8, 2007, from

http://dictionary.cambridge.org/results.asp?searchword=electronic
Charmonman, S. (2003). College of Internet Distance Education. Retrieved April 7, 2007, from http://www.elearning.au.edu/about_college_01.html

Dublin, L. (2003). If You Only Look Under the Street Lamps .. or Nine E-learning Myths (electronic version). eLearning Developers Journal, 1-7.

EduSpecs. (2006). Evolution of e-Learning. Retrieved April 7, 2007, from http://www.eduspecs.ca/epic/site/eduspecs.nsf/en/h_00005e.html

Ehrlich, D. (2002). HRD 408: Instructional Design II, Glossary of Terms. Retrieved April 7, 2007, from http://www.neiu.edu/~dbehrlic/hrd408/glossary.htm

Graduate Recruitment Bureau. (2007). Jargon buster. Retrieved April 7, 2007, from http://www.grb.uk.com/263.0.html

Heyes, K. (2004). Developing a Consensual Vision for e-Learning. Retrieved April 7, 2007, from http://www.laws.sandwell.gov.uk/ccm/cms-service/stream/asset/?asset_id=218160

Hobsons MBA Central. (2007). Glossary of terms. Retrieved April 7, 2007, from http://www.mba.hobsons.com/glossary.jsp

Intelera Inc. (2004). Web site definitions. Retrieved April 7, 2007, from http://www.intelera.com/glossary.htm

Knox, R. (2007). e-learning What is e-learning. Retrieved April 4, 2007, from http://www.virtual-college.co.uk/elearning/elearning01.asp

National College of Ireland. (2004). e-Learning Research & Development Roadmap for Ireland. Retrieved April 7, 2007, from http://www.know-2.net/k2docs/MKelleher_06-04-05_10-56-26.pdf

Online Degree Zone. (2007). Useful Terms for Distance Learning. Retrieved April 4, 2007, from http://www.onlinedegreezone.com/distance-learning_terms.php

teach-nology.com. (2007). Letter E Teaching Terms. Retrieved April 4, 2007, from http://www.teach-nology.com/glossary/terms/e/

The Digital Strategy. (2007). Glossary of Key Terms. Retrieved April 4, 2007, from http://www.digitalstrategy.govt.nz/templates/Page____60.aspx

The University of South Dakota. (2007). Glossary of Library and Internet Terms. Retrieved April 4, 2007, from http://www.usd.edu/library/instruction/glossary.shtml

University of Bath. (2004). CMS Glossary: Access control to Zope. Retrieved April 4, 2007, from http://www.bath.ac.uk/internal/web/cms-wp/glossary.html

Waller, V., & Wilson, J. (2001, October). A Definition for E-Learning. Retrieved April 8, 2007, from http://www.odlqc.org.uk/odlqc/n19-e.htm

Web Sight Ltd. (2007). Glossary. Retrieved April 7, 2007, from www.websight.co.uk/glossary

wikipedia. (2007). Electronic learning. Retrieved April 5, 2007, from http://en.wikipedia.org/wiki/Electronic_learning

World Wide Learn. (2007). E-Learning Glossary. Retrieved April 4, 2007, from http://www.worldwidelearn.com/elearning-essentials/elearning-glossary.htm