ศิษย์เก่าภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
อาจารย์ประจำระดับบัณฑิตศึกษา วิทยาลัยทางไกลอินเทอร์เน็ต
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
การเติบโตของเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารในช่วงระยะสิบปีที่ผ่านมาเป็นพื้นฐานสำคัญที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสาร และสาระความรู้ได้อย่างไร้ขอบเขต นั่นคือ ทุกคนสามารถติดต่อสื่อสารกัน และเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกหนแห่ง และตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการใช้อินเทอร์เน็ต และคลื่นลูกใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากต่อการสื่อสารของผู้คนก็คือ เครือข่ายไร้สาย หรือ การติดต่อผ่านทางอุปกรณ์พกพาต่างๆ เช่น เครื่องโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาอื่นๆ ที่มีความสามารถคล้ายกัน
วัตถุประสงค์หลักในการเผยแพร่บทความนี้คือ การกระจายความรู้ใหม่ให้กับนักการศึกษา และผู้สนใจทั่วไปได้รู้จัก และเข้าใจ ความเป็นมาของเอ็มเลิร์นนิ่งระดับพื้นฐาน ประวัติย่อ และความสัมพันธ์ของระหว่างรูปแบบต่างๆ ของการศึกษาในปัจจุบัน รวมไปถึงความสัมพันธ์ของอีเลิร์นนิ่งกับ เอ็มเลิร์นนิ่ง
การให้คำจำกัดความของ เอ็มเลิร์นนิ่ง นั้นน่าจะแยกพิจารณาเป็น 2 ส่วน จากรากศัพท์ที่นำมาประกอบกัน ก็คือ
- Mobile (Devices) หมายถือ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือ โทรศัพท์มือถือ และเครื่องเล่น หรือแสดงภาพที่พกพาติดตัวไปได้ ดังที่จะได้ยกตัวอย่างต่อไป
- Learning หมายถึงการเรียนรู้ เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเนื่องมาจากบุคคลปะทะกับสิ่งแวดล้อมจึงเกิดประสบการณ์ การเรียนรู้เกิดขึ้นได้เมื่อมีการแสวงหาความรู้ การพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคคลให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น รวมไปถึงกระบวนการสร้างความเข้าใจ และถ่ายทอดประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคล
- PDAs (Personal Digital Assistant) คือคอมพิวเตอร์แบบพกพาขนาดเล็กหรือขนาดประมาณฝ่ามือ ที่รู้จักกันทั่วไปได้แก่ Pocket PC กับ Palm เครื่องมือสื่อสารในกลุ่มนี้ยังรวมถึง PDA Phone ซึ่งเป็นเครื่อง PDA ที่มีโทรศัพท์ในตัว สามารถใช้งานการควบคุมด้วย Stylus เหมือนกับ PDA ทุกประการ นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กอื่นๆ เช่น lap top, Note book และ Tablet PC อีกด้วย
- Smart Phones คือโทรศัพท์มือถือ ที่บรรจุเอาหน้าที่ของ PDA เข้าไปด้วยเพียงแต่ไม่มี Stylus แต่สามารถลงโปรแกรมเพิ่มเติมเหมือนกับ PDA และ PDA phone ได้ ข้อดีของอุปกรณ์กลุ่มนี้คือมีขนาดเล็กพกพาสะดวกประหยัดไฟ และราคาไม่แพงมากนัก คำว่าโทรศัพท์มือถือ ตรงกับภาษาอังกฤษ ว่า hand phone ซึ่งใช้คำนี้แพร่หลายใน Asia Pacific ส่วนในอเมริกา นิยมเรียกว่า Cell Phone ซึ่งย่อมาจาก Cellular telephone ส่วนประเทศอื่นๆ นิยมเรียกว่า Mobile Phone
- iPod, เครื่องเล่น MP3 จากค่ายอื่นๆ และเครื่องที่มีลักษณะการทำงานที่คล้ายกัน คือ เครื่องเสียงแบบพกพก iPod คือชื่อรุ่นของสินค้าหมวดหนึ่งของบริษัท Apple Computer, Inc ผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช iPod และเครื่องเล่น MP3 นับเป็นเครื่องเสียงแบบพกพาที่สามารถรับข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ด้วยการต่อสาย USB หรือ รับด้วยสัญญาณ Blue tooth สำหรับรุ่นใหม่ๆ มีฮาร์ดดิสก์จุได้ถึง 60 GB. และมีช่อง Video out และมีเกมส์ให้เลือกเล่นได้อีกด้วย
จากแบบจำลองกระบวนการเรียนรู้ของเอ็มเลิร์นนิ่งในรูปที่ 1 นั้นแสดงให้เห็นกระบวนการเรียนรู้ของเอ็มเลิร์นนิ่งซึ่งประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ
- ขั้นที่ 1 ผู้เรียนมีความพร้อม และเครื่องมือ
- ขั้นที่ 2 เชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่าย และพบเนื้อหาการเรียนที่ต้องการ
- ขั้นที่ 3 หากพบเนื้อหาจะไปยังขั้นที่ 4 แต่ถ้าไม่พบจะกลับเข้าสู่ขั้นที่ 2
- ขั้นที่ 4 ดำเนินการเรียนรู้ ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในเครือข่าย
- ขั้นที่ 5 ได้ผลการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์
จากคำอธิบายดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า เอ็มเลิร์นนิ่งนั้นเกิดขึ้นได้โดยไร้ข้อจำกัด ด้านเวลา และสถานที่ ที่สำคัญขอเพียงแต่ผู้เรียนมีความพร้อมและเครื่องมือ อีกทั้งเครือข่ายมีเนื้อหาที่ต้องการ จึงจะเกิดการเรียนรู้ขึ้น แล้วจะได้ผลการเรียนรู้ที่ปรารถนา หากขาดเนื้อหาในการเรียนรู้ กระบวนการดังกล่าวจะกลายเป็นเพียงการสื่อสาร กับเครือข่ายไร้สายนั่นเอง จึงอาจจะเป็นพันธกิจใหม่ของนักการศึกษา นักวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านการผลิตบทเรียนสำหรับเอ็มเลิร์นนิ่งที่ควรจะเร่งดำเนินการออกแบบ พัฒนา ผลิต และกระจายสื่อที่มีประสิทธิภาพสำหรับการเรียนด้วยเอ็มเลิร์นนิ่ง
M-E-D -learning
ในทางปฏิบัติแล้ว เอ็มเลิร์นนิ่งเป็นอีเลิร์นนิ่งที่ผู้เรียนใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์แบบพกพา เพื่อเข้าถึงบทเรียน และเพิ่มพูนความรู้ให้กับตนเองได้ นอกจากนี้ตามหลักการแล้วอีเลิร์นนิ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ดีเลิร์นนิ่ง (dLearning) หรือคำเต็ม Distance Learning ซึ่งหมายถึงการเรียนทางไกลนั้นเอง ดังนั้นเพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ของ การเรียนรู้ทั้ง 3 รูปแบบ ได้แก่ เอ็มเลิร์นนิ่ง, อีเลิร์นนิ่ง และ
ดีเลิร์นนิ่ง (M-E-D-learning) และรูปแบบการศึกษาในปัจจุบัน ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ที่ว่าการจัดการศึกษานั้นมี 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และ การศึกษาตามอัธยาศัย ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- การศึกษาในระบบ (Formal Education) เป็นการศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน เช่น การศึกษาในโรงเรียน และมหาวิทยาลัยในห้องเรียนแบบปกติ
ทั้งนี้สถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้งสามรูปแบบก็ได้ ความสัมพันธ์ของรูปแบบการเรียนรู้ทั้ง 3 รูปแบบ (M-E-D-learning) และการจัดการศึกษา 3 รูปแบบสามารถแสดงไว้ในรูปที่ 2
รูปที่ 2 ความสัมพันธ์ของรูปแบบการเรียนรู้ และการจัดการศึกษา
จากรูปที่ 2 ความสัมพันธ์ของรูปแบบการเรียนรู้ และการจัดการศึกษาแสดงให้เห็นได้กว่า การจัดการศึกษานั้นมีส่วนที่เลื่อมกันอยู่เนื่องจากบุคคลที่มีความประสงค์จะทำการศึกษานั้นอาจจะใช้บริการของการจัดการศึกษาทั้ง 3 แบบพร้อมกันได้ ทางด้านการศึกษาทางไกลนั้นก็เป็นระบบการศึกษาที่สามารถเกิดขึ้นได้ในแต่ละประเภทของการจัดการศึกษาเช่นกัน ส่วนอีเลิร์นนิ่งนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในดีเลิร์นนิ่ง หรือการศึกษาทางไกล และเอ็มเลิร์นนิ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของอีเลิร์นนิ่งนั้นเอง ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งอีเลิร์นนิ่ง และเอ็มเลิร์นนิ่งนั้นอาจจะนำมาใช้ได้ในการจัดการศึกษาทุกแบบ
ข้อดี-ข้อด้อยของเอ็มเลิร์นนิ่ง
แม้เอ็มเลิร์นนิ่งได้เริ่มใช้เป็นครั้งแรกในช่วง ปี 1995-2000 (Keegan, 2006) เนื่องจากมีปริมาณการพัฒนาอีเลิร์นนิ่ง ในมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างมากในช่วงดังกล่าว พร้อมกับเป็นช่วงที่เทคโนโลยีไร้สายมีการเติบโตอย่างมาก และคาดว่าเทคโนโลยีไร้สายเหล่านี้จะมาแทนที่การเชื่อมต่อด้วยสายต่างๆ ในที่สุด นอกจากนี้ยังมีการคาดคะเนอีกว่าผู้คนส่วนมากจะรับสื่อจากคอมพิวเตอร์ไร้สายมากกว่าอ่านจากหน้าจอคอมพิวเตอร์แบบเดิมเสียอีก ด้วยศักยภาพของสังคมยุคข้อมูลข่าวสาร เอ็มเลิร์นนิ่งจึงเป็นประเด็นที่ถูกนำมาอภิปรายในเว็บไซต์อย่างแพร่หลาย เก็ดส์ (Geddes, 2006) ได้ทำการศึกษาประโยชน์ของเอ็มเลิร์นนิ่ง และสรุปว่าประโยชน์ที่ชัดเจนอย่างยิ่งนั้นสามารถจัดได้เป็น 4 หมวด คือ
- การเข้าถึงข้อมูล (Access) ได้ทุกที่ ทุกเวลา
- สร้างสภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ (Context) เพราะเอ็มเลิร์นนิ่งช่วยให้การเรียนรู้จากสถานที่ใดก็ตามที่มีความต้องการเรียนรู้ ยกตัวอย่างเช่น การสื่อสารกับแหล่งข้อมูล และผู้สอนในการเรียนจากสิ่งต่างๆ เช่น ในพิพิธภัณฑ์ที่ผู้เรียนแต่ละคนมีเครื่องมือสื่อสารติดต่อกับวิทยากรหรือผู้สอนได้ตลอดเวลา
- การร่วมมือ (Collaboration) ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน และเพื่อนร่วมชั้นเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา
- ทำให้ผู้เรียนสนใจมากขึ้น (Appeal) โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น เช่น นักศึกษาที่ไม่ค่อยสนใจเรียนในห้องเรียน แต่อยากจะเรียนด้วยตนเองมากขึ้นด้วยเอ็มเลิร์นนิ่ง
ส่วนความคิดเห็นของนักศึกษาที่วิทยาลัยการอุดมศึกษานิวแมน ที่เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ (Newman College Higher Education in Birmingham, 2006) ซึ่งสร้างเว็บไซต์ให้ความรู้เกี่ยวกับเอ็มเลิร์นนิ่ง และได้รวบรวมข้อดี-ข้อด้อยของเอ็มเลิร์นนิ่งไว้ ซึ่งสามารถสรุปโดยสังเขปดังต่อไปนี้
ข้อดีของเอ็มเลิร์นนิ่ง
- มีความเป็นส่วนตัว และอิสระที่จะเลือกเรียนรู้ และรับรู้
- ไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา สถานที่ เพิ่มความเป็นไปได้ในการเรียนรู้
- มีแรงจูงใจต่อการเรียนรู้มากขึ้น
- ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ได้จริง
- ด้วยเทคโนโลยีของเอ็มเลิร์นนิ่ง ทำให้เปลี่ยนสภาพการเรียนจากที่ยึดผู้สอนเป็นศูนย์กลาง ไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับผู้เรียน จึงเป็นการส่งเสริมให้มีการสื่อสารกับเพื่อนและผู้สอนมากขึ้น
- สามารถรับข้อมูลที่ไม่มีการระบุชื่อได้ ซึ่งทำให้ผู้เรียนที่ไม่มั่นใจกล้าแสดงออกมากขึ้น
- สามารถส่งข้อมูลไปยังผู้สอนได้ อีกทั้งกระจายซอฟต์แวร์ไปยังผู้เรียนทุกคนได้ ทำให้ผู้เรียนทุกคนมีซอฟต์แวร์รุ่นเดียวกันเร็วกว่าการโทรศัพท์ หรืออีเมล
- เครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา เครื่อง PDA หรือโทรศัพท์มือถือที่ใช้สำหรับเอ็มเลิร์นนิ่งนั้น ช่วยลดความแตกต่างทางดิจิตัลเนื่องจากราคาเครื่องถูกกว่าคอมพิวเตอร์
- สะดวกสบายและมีประสิทธิภาพทั้งในสภาพแวดล้อมทางการเรียนและการทำงาน
- เครื่องประเภทพกพาต่างๆ ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นทางการเรียนและมีความรับผิดชอบต่อการเรียนด้วยตนเอง
นอกจากนี้ผู้เขียนยังอยากจะย้ำว่าความสำเร็จ และความนิยมของ Mobile Learning ในอนาคตที่จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น ขึ้นอยู่กับ เทคโนโลยีต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนด้วย ยกตัวอย่างเช่น การมี Browser ที่เหมาะสมกับ Mobile Device ดังที่ค่าย Nokia ได้ออก S60 ซึ่งเป็น Browser ที่ย่อขนาดของเว็บไซต์ปกติ (Scaling down the page) ให้แสดงผลได้อย่างดีบนหน้าจอเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาได้ ส่วน Browser ตระกูล Opera จากประเทศนอร์เวย์นั้นก็มี Small Screen Rendering ซึ่งช่วยจัดเอกสารบนหน้าเว็บให้เหมาะกับขนาดของจอบนเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาอีกเช่นกัน (Greene, 2006)
ข้อด้อยของเอ็มเลิร์นนิ่ง
- ขนาดของความจุ Memory และขนาดหน้าจอที่จำกัดอาจจะเป็นอุปสรรคสำหรับการอ่านข้อมูล แป้นกดตัวอักษรไม่สะดวกรวดเร็วเท่ากับคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ อีกทั้งเครื่องยังขาดมาตรฐาน ที่ต้องคำนึงถึงเมื่อออกแบบสื่อ เช่น ขนาดหน้าจอ แบบของหน้าจอ ที่บางรุ่นเป็นแนวตั้ง บางรุ่นเป็นแนวนอน
- การเชื่อมต่อกับเครือข่าย ยังมีราคาที่ค่อนข้างแพง และคุณภาพอาจจะยังไม่น่าพอใจนัก
- ซอฟต์แวร์ที่มีอยู่ในท้องตลาดทั่วไป ไม่สามารถใช้ได้กับเครื่องโทรศัพท์แบบพกพาได้
- ราคาเครื่องใหม่รุ่นที่ดี ยังแพงอยู่ อีกทั้งอาจจะถูกขโมยได้ง่าย
- ความแข็งแรงของเครื่องยังเทียบไม่ได้กับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ
- อัพเกรดยาก และเครื่องบางรุ่นก็มีศักยภาพจำกัด
- การพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ขาดมาตรฐานของการผลิตสื่อเพื่อเอ็มเลิร์นนิ่ง
- ตลาดของเครื่องโทรศัพท์มือถือมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว พอพอกับเครื่องที่สามารถตกรุ่นอย่างรวดเร็ว
- เมื่อมีผู้ใช้เครือข่ายไร้สายมากขึ้น ทำให้การรับส่งสัญญาณช้าลง
- ยังไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูล
นอกจากนี้ คีออท (Keough, 2005) ยังได้ระบุข้อด้อยที่สำคัญของเอ็มเลิร์นนิ่งอีกด้วยนั่นคือ เอ็มเลิร์นนิ่งขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่อง และการส่งสัญญาณ
สรุป
เอ็มเลิร์นนิ่งกำลังก้าวเข้ามาเป็นการเรียนรู้คู่กับสังคมอย่างแท้จริง เนื่องจากความเป็นอิสระของเครือข่ายไร้สาย ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา อีกทั้งจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาที่ใช้เป็นเครื่องมือนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดีสิ่งที่สำคัญยิ่งของเอ็มเลิร์นนิ่งนั้นอยู่ที่การเรียนรู้ และการมุ่งพัฒนาเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพได้อย่างแท้จริง
บรรณานุกรม
Geddes. (2006). Mobile learning in the 21st century: benefit for learners. Retrieved April 11, 2007, from
Greene, K. (2006, 14 June). Better Mobile Web Browsing. Retrieved 9 October, 2007, from http://www.technologyreview.com/read_article.aspx?id=16985
Keegan, D. (2006). The future of learning: From eLearning to mLearning, Chapter 3. From eLearning to mLearning. Retrieved 13 Oct, 2006, from http://learning.ericsson.net/mlearning2/project_one/thebook/chapter3.html
Keough, M. (2005, 25-28 October 2005). 7 reasons why mlearning doesn’t work [electronic version]. Paper presented at the mLearn 2005 4th World conference on mLearning, Mobile technology: The future of learning in your hands, Cape Town, South Africa.
Miniwatts Marketing Group. (2008). World Internet Usage Statistics News and Population Stats. Retrieved April 18, 2008, from http://www.internetworldstats.com/stats.htm
Miniwatts Marketing Group. (2007). Internet World Stats. Retrieved April 10, 2007, from
http://www.internetworldstats.com/blog.htmNewman College Higher Education in Birmingham, U. (2006, March). Benefits of m-learning. Retrieved April 10, 2007, from http://www.newman.ac.uk/Students_Websites/~b.k.bains/benefit.htm
Prensky, M. (2004). What Can You Learn From A Cell Phone? – Almost Anything! Retrieved Oct 20, 2006, from http://www.marcprensky.com/writing/Prensky-What_Can_You_Learn_From_a_Cell_Phone-FINAL.pdf
Reuters. (2008). Global cellphone penetration reaches 50 pct. Retrieved April 18, 2008, from http://investing.reuters.co.uk/news/articleinvesting.aspx?type=media&storyID=nL29172095
Ryu, H. (2007). The Status-quo of Mobile Learning. Retrieved April 11, 2007, from http://tur-www1.massey.ac.nz/~hryu/MobileLearning_v2.pdf
siamdic.com. (2007). mobile. Retrieved April 9, 2007, from http://siamdic.com
The Economist Intelligence Unit, & The IBM Institute for Business Value. (2006). The 2006 e-readiness rankings. Retrieved Jan 24 2007, from http://graphics.eiu.com/files/ad_pdfs/2006Ereadiness_Ranking_WP.pdf
Watson, H., & White, G. (2006). MLEARNING IN EDUCATION – A SUMMARY. Retrieved 20 Feb, 2006, from http://www.educationau.edu.au/jahia/webdav/site/myjahiasite/shared/site/mLearning.pdf
ศูนย์ปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ สถาบันคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. (2548, 25 Sept). ม.รามฯ เปิดเรียนทางมือถือ. Retrieved Oct 20, 2006, from http://www.ctc.ru.ac.th/ctc3_news/ctcnews/index.php?op=shownews&code=114